[x] ปิดหน้าต่างนี้
Powered by _SCRIPT _VERSION
 Home Research Innovation วิธีนำเสนอผลงาน สมัครสมาชิก คู่มือการใช้



ชื่องานวิจัย
นางสาวกุลธิดา สุวัชระกุลธร. (2563). การพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาฟิสิกส์ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้การเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับแนวคิดเมตาคอกนิชัน เรื่อง ไฟฟ้ากระแส
 
  เข้าชม 1691 | แชร์   
 
บทคัดย่อ
1. คำถามวิจัย
การเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับแนวคิดเมตาคอกนิชัน เรื่อง ไฟฟ้ากระแส ช่วยพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาฟิสิกส์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ได้หรือไม่ อย่างไร
2. วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาฟิสิกส์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ด้วยการเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับแนวคิดเมตาคอกนิชัน เรื่อง ไฟฟ้ากระแส ให้ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60
3. สมมติฐานการวิจัย
-
4. วิธีการดำเนินการวิจัย
กลุ่มตัวอย่าง
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนระยองวิทยาคม จังหวัดระยอง แผนการเรียนวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ จำนวน 1 ห้องเรียน ที่เรียนรายวิชาฟิสิกส์4 รหัสวิชา ว32204 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 จำนวนนักเรียน 37 คน ประกอบด้วยนักเรียนชาย 11 คน นักเรียนหญิง 26 คน โดยคละความสามารถ ซึ่งเป็นห้องที่ผู้วิจัยได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการเรียนรู้
เครื่องมือที่ใช้
1) แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับแนวคิดเมตาคอกนิชัน เรื่อง ไฟฟ้ากระแส จำนวน 6 แผน 9 ชั่วโมง
2) แบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหา โดยใช้กลวิธีเมตาคอกนิชัน จำนวน 3 ชุด
3) แบบทดสอบความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาวิชาฟิสิกส์ ลักษณะแบบทดสอบจะเป็นแบบอัตนัย 2 ข้อ จำนวน 3 ชุด
4) แบบสังเกตความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาฟิสิกส์ เป็นลักษณะแบบไม่มีโครงสร้าง
ช่วงเวลาการทดลอง
กุมภาพันธ์ - มีนาคม 2564
การวิเคราะข้อมูล
รายละเอียดของการวิเคราะห์ข้อมูล และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ มีดังนี้
1. ข้อมูลเชิงคุณภาพ เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลแล้วนำมารายงานผลในลักษณะของการบรรยาย โดยรวบรวมจากแบบบันทึกผลการจัดการเรียนรู้ของครู แบบบันทึกการสังเกตชั้นเรียนผ่านกระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพโดยครูผู้ร่วมเรียนรู้ ซึ่งจะนำข้อมูลที่ได้มาประเมินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ว่ามีข้อบกพร่อง ปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไรบ้างแล้วหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขในวงจรต่อไป
2. ข้อมูลเชิงปริมาณ ใช้สถิติพื้นฐาน คือ การหาความถี่ของพฤติกรรมที่พบในแต่ละขั้นตอนของแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหา และนำไปแปลผลโดยใช้แบบสังเกตความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาฟิสิกส์ เป็นลักษณะแบบไม่มีโครงสร้าง และการหาค่าเฉลี่ย และร้อยละจากแบบทดสอบความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาวิชาฟิสิกส์ แล้วนำมาเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด คือ ให้มีคะแนนเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของคะแนนเต็ม

5. ผลการวิจัย
ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับแนวคิดเมตาคอกนิชัน เรื่อง ไฟฟ้ากระแส มีความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาฟิสิกส์ ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 ที่ได้ตั้งไว้ ในแต่ละวงจรปฏิบัติการ ดังนี้ วงจรปฏิบัติการที่ 1 มีนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 29.73 วงจรปฏิบัติการที่ 2 มีนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 51.35 และวงจรปฏิบัติการที่ 3 มีนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 62.16 จากการสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ พบว่า ในวงจรปฏิบัติการที่ 2 – 3 นักเรียนมีความมั่นใจในการวิเคราะห์โจทย์ปัญหาฟิสิกส์ด้วยตนเองเพิ่มมากขึ้น สามารถทำโจทย์ด้วยตนเองโดยไม่ต้องขอคำแนะนำจากครูเพิ่มมากขึ้น และการจัดการเรียนรู้ที่เริ่มจากการใช้สถานการณ์ปัญหาให้นักเรียนได้สืบเสาะความรู้ผ่านการทดลอง ช่วยให้นักเรียนเกิดแนวคิดวิทยาศาสตร์ในเรื่องนั้นๆ ได้ดีขึ้น จึงสามารถประยุกต์ความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาโจทย์ฟิสิกส์ได้ และจากการวิเคราะห์ผลการแก้ปัญหาโจทย์ฟิสิกส์ของนักเรียน พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีปัญหาในการวิเคราะห์ปริมาณที่โจทย์กำหนดให้จากสถานการณ์ จากผลการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า การจัดการเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับแนวคิดเมตาคอกนิชัน เรื่อง ไฟฟ้ากระแส ช่วยพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนได้
6. การใช้ประโยชน์
1.1 ในการนำแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับแนวคิดเมตาคอกนิชัน มาใช้ในการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาโจทย์ฟิสิกส์ ควรมีเวลาเพียงพอในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกทักษะด้วยตนเอง และครูผู้สอนควรสะท้อนผลการเรียนรู้ให้นักเรียนทราบทันที
1.2 โจทย์ปัญหาฟิสิกส์ที่นำมาใช้ในการเรียนการสอน ต้องมีลักษณะแตกต่างจากตัวอย่างที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อไม่ให้นักเรียนเกิดการท่องจำ
1.3 ในการแก้โจทย์ปัญหาฟิสิกส์ โดยใช้กระบวนการทั้ง 6 ขั้นตอน ครูควรอธิบายในแต่ละขั้นตอนอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้นักเรียนเกิดความสับสน



7. แหล่งทุน/รางวัลที่ได้รับ


 


กลุ่มวิจัยและส่งเสริมการวิจัยทางการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 10 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เขตดุสิต กทม. 10300
ติดต่อผู้ดูแลระบบ : reis.obec@gmail.com โทรศัพท์ 0 2288 5883